ยามาฮ่าฟินน์ทั่วไทย...ใช้น้ำมันถังเดียว@อยุธยา ย้อนประวัติศาสตร์กรุงเก่าแบบสุดฟินน์ กับ ยามาฮ่า ฟินน์ ด้วยเงินเติมน้ำมันไม่ถึง 60 บาท!!!

Last updated: 20 ส.ค. 2562  |  54896 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ยามาฮ่าฟินน์ทั่วไทย...ใช้น้ำมันถังเดียว@อยุธยา ย้อนประวัติศาสตร์กรุงเก่าแบบสุดฟินน์ กับ ยามาฮ่า ฟินน์ ด้วยเงินเติมน้ำมันไม่ถึง 60 บาท!!!

     ส่งท้ายความฟินน์กับกิจกรรม “ยามาฮ่าฟินน์ทั่วไทย...ใช้น้ำมันถังเดียว” กันที่ จ.อยุธยา โดยครั้งนี้ขบวนการฟินน์พร้อมที่จะพาทุกคนไป “ย้อนประวัติศาสตร์กรุงเก่าแบบสุดฟินน์ กับ ยามาฮ่า ฟินน์” ในแบบที่หลายๆ คนอาจจะไม่เคยสัมผัสมาก่อน ซึ่งคราวนี้ทีมสื่อมวลชนจากเมืองหลวงได้นัดรวมพลกับผู้ร่วมขบวนการฟินน์เจ้าถิ่นกรุงเก่ากันที่ร้านผู้จำหน่ายรถจักรยานยนต์ยามาฮ่าในพื้นที่อย่าง บริษัท เจ้าพระยามอเตอร์ไซค์ จำกัด ที่คอยให้การต้อนรับอย่างเป็นกันเอง



     สำหรับการเดินทาง “ย้อนประวัติศาสตร์กรุงเก่าแบบสุดฟินน์ กับ ยามาฮ่า ฟินน์” เริ่มต้นขึ้นในช่วงเวลาประมาณบ่ายโมงหลังจากที่ได้ทำการชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ของกิจกรรม “ยามาฮ่าฟินน์ทั่วไทย...ใช้น้ำมันถังเดียว” ที่ต้องการให้ทุกคนได้ท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่างๆ ภายใน จ.อยุธยา ด้วย “ยามาฮ่า ฟินน์” โดยใช้น้ำมันเชื้อเพลิงแค่ “ถังเดียว” เท่านั้น เพื่อแสดงให้เห็นว่ารถจักรยานยนต์ครอบครัวยุคใหม่ของยามาฮ่ารุ่นนี้ นอกจากจะสามารถใช้งานในชีวิตประจำวันได้อย่างประหยัดแล้ว ยังเป็นรถคู่ใจที่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้แบบสบายๆ แถมประหยัดเงินในกระเป๋าได้อีกด้วย ซึ่งทริปนี้เส้นทางโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 130 กม. กับการขับขี่ไปตามจุดต่างๆ ตลอดทั้ง 2 วัน



     โดยหลังจากที่เติมน้ำมัน “ยามาฮ่า ฟินน์” ทั้ง 8 คันจนเต็มถังเรียบร้อย ขบวนการฟินน์ก็ออกเดินทางสู่จุดหมายแรกทันที นั่นคือ “วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร” ที่อยู่ห่างจากตัวเมืองกรุงเก่าออกไปประมาณ 20 กม. อยู่บริเวณใกล้กับพระราชวังบางปะอิน ซึ่งขบวนของเราขับขี่กันไปแบบไม่เร่งรีบไปกันแบบชิลล์ๆ ด้วยความเร็วยืนพื้นแถวๆ 70 กม./ชม. และด้วยเวลาเพียงแค่ชั่วอึดใจก็มาถึงบริเวณลานจอดรถ ก่อนที่จะนั่งกระเช้าเคเบิ้ลชักรอกข้ามไปยังเกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวที่ศิลปะไทยและตะวันตกมาบรรจบพบกันได้อย่างลงตัว ผ่านอาคารและสถาปัตยกรรมที่งดงามและโดดเด่น โดยใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมโกธิคและเลียนแบบโบสถ์คริสต์ในการก่อสร้าง ซึ่งพวกเราต่างรู้สึกฟินน์กับศิลปะที่ผสมผสานกันแบบลงตัวนี้เป็นอย่างยิ่ง



     จากนั้นเรามาฟินน์กันต่อด้วยการนั่งเรือหางยาวล่องไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา ที่แม้ช่วงนี้แม่น้ำจะเต็มไปด้วยผักตบชวา แต่ก็ไม่ได้ทำให้อรรถรสการนั่งเรือล่องชมวิถีชีวิตริมน้ำในครั้งนี้เสียไปแม้แต่น้อย สมาชิกทุกคนต่างรู้สึกตื่นตาตื่นใจกับการได้เห็นเด็กๆ กระโดดเล่นน้ำโชว์เมื่อเรือของเราแล่นผ่านหน้าบ้าน ได้เห็นการดำรงชีวิตด้วยการล่องเรือหาปลา ได้เห็นสภาพบ้านเรือนที่อยู่ริมน้ำที่มีการเตรียมพร้อมตามวิถีที่คนริมน้ำที่ดำเนินมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ทำให้ทริปนี้ขบวนการฟินน์ได้บรรยากาศการเดินทางที่แตกต่างไปจากที่เคยผ่านมา...



     หลังจากที่ฟินน์ไปกับวิถีชีวิตกลางลำน้ำกันอยู่พักใหญ่ขบวนการฟินน์ก็ออกเดินทางต่อ โดยช่วงนี้เราขับขี่ ยามาฮ่า ฟินน์ ลัดเลาะไปตามเส้นทางเล็กๆ ที่เป็นทางสัญจรของชาวบ้าน สภาพถนนก็มีขระขรุบ้างเล็กน้อย มีทางโค้งแคบๆ บ้าง แต่ไม่มีปัญหาสำหรับพวกเรา เพราะด้วยความคล่องตัวของรถทำให้เราคอนโทรลจังหวะขับขี่ได้อย่างคล่องแคล่ว และด้วยช่วงล่างที่ดีทำให้สามารถซับแรงสั่นสะเทือนจากพื้นถนนได้แบบสบาย ทำให้ผู้ขับขี่สามารถซึมซับกับบรรยากาศท้องทุ่งสองข้างทางได้แบบฟินน์ฟินน์ก่อนที่จะถึงจุดหมาย นั่นคือ วัดนักบุญยอแซฟ ซึ่งถือเป็นโบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิกแห่งแรกในประเทศไทย มีประวัติมาตั้งแต่ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนถึงการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง โบสถ์ได้ถูกเผาทำลายและถูกปล้นสะดมทรัพย์สินไปหมด ก่อนได้กลับมาบูรณะโบสถ์อีกครั้งในปี พ.ศ. 2374 และโบสถ์หลังปัจจุบันได้ทำพิธีเสกในวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2426 โบสถ์ได้ทำการบูรณะครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2547 ซึ่งที่นี่ทำให้สมาชิกขบวนการฟินน์ทุกคนได้เดินชมความงดงามและประวัติศาสตร์ของโบสถ์แห่งนี้กันอย่างตั้งใจกันเลยทีเดียว



     เมื่อฟินน์กับวัดไทยของศาสนาพุทธและโบสถ์ของศาสนาคริสต์กันแล้ว ขบวนการฟินน์ก็เดินทางต่อเพื่อไปสัมผัสกับมัสยิดของศาสนาอิสลามกันต่อไป โดยเราเลือกที่จะไปกันที่ มัสยิดกุฏีช่อฟ้า ที่อยู่ไม่ไกลจากวัดนักบุญยอแซฟมากนัก ซึ่งมัสยิดแห่งนี้ถือเป็นมัสยิดประวัติศาสตร์และแห่งแรกของเมืองอยุธยา และเมื่อมาถึงจุดหมายเราก็ได้รับความเอื้อเฟื้อจากผู้ดูแลมัสยิดมาเป็นผู้ให้เล่าประวัติความเป็นมาของศาสนสถานแห่งนี้ ทำให้เรารู้ว่าชื่อ กุฏีช่อฟ้า นั้นเป็นนามพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จประพาสทางชลมาคร พระองค์ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินขึ้นมา ณ มัสยิด และได้ทรงทราบจากราษฎรที่เข้าเฝ้าในขณะนั้นว่าชื่อ สุเหร่ากุฎีเจ้าเซ็น พระองค์ก็ทรงตรัสว่าคนที่นี่เป็นแขกเจ้าเซ็นใช่ไหม ผู้เข้าเฝ้าในขณะนั้นได้ทูลตอบว่า มิใช่แขกเจ้าเซ็น แต่เป็นแขกมาจากปัตตานี พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสพระราชทานให้เปลี่ยนชื่อมัสยิดจากสุเหร่ากุฎีเจ้าเซ็นเป็นสุเหร่ากุฎีช่อฟ้า จากลักษณะสถาปัตยกรรมที่มีช่อฟ้าอยู่บนหลังคามัสยิด สำหรับโคมตะเกียงพระราชทานนั้น พระองค์ดำริที่จะพระราชทานให้มัสยิด แต่ทางมัสยิดได้รับในปีแรกรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 6 ต่อมาสัปบุรุษทั้งหลายลงความเห็นร่วมกันใช้คำว่า มัสยิด แทนคำว่า สุเหร่า ประมาณปี 2496 สุเหร่ากุฎีช่อฟ้าจึงมีชื่อเรียกว่า มัสยิดกุฎีช่อฟ้า มาจนถึงปัจจุบันนี้



     ปิดท้ายวันแรกของทริป “ยามาฮ่าฟินน์ทั่วไทย...ใช้น้ำมันถังเดียว@อยุธยา” ด้วยการที่ขบวนการฟินน์ไปรับประทานอาหารเย็นกันที่ ร้านครัวย่าบัว ร้านอาหารขึ้นชื่อของเมืองกรุงเก่า ที่ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาแถวๆ คุ้งน้ำที่สามารถมองเห็นวัดพนัญเชิงได้อย่างชัดเจน ทำให้เราได้ฟินน์กับรสชาติอาหารที่แสนอร่อย บรรยากาศยามเย็นริมแม่น้ำที่มี่ทั้งเรือเล็กที่ชาวบ้านใช้สัญจรและเรือขนบรรทุกทรายขนาดใหญ่ที่โชว์ทักษะการลากจูงตีโค้งผ่านคุ้งน้ำที่แสนจะคับแคบ ซึ่งถือว่าเป็นภาพที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนเลย ก่อนที่จะเข้าพักผ่อนกันที่ โรงแรม กรุงศรี ริเวอร์ ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเช่นกัน ทำให้วันนี้ขบวนการฟินน์ของเราอยู่กับวิถีแห่งสายน้ำแบบเต็มที่กันเลยทีเดียว!!!



     เช้าวันใหม่ขบวนการฟินน์พร้อมออกเดินทางกันทันที หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีฝนตกอย่างหนักในช่วงเช้าตรู่ ก่อนที่จะมาซาลงในช่วงประมาณ 8 โมงกว่าๆ ซึ่งขบวน “ยามาฮ่า ฟินน์” ทั้ง 8 คันได้ออกสตาร์ทเริ่มต้นการเดินทางในสภาพอากาศที่เย็นฉุ่มช่ำและมีฝนโปรยปรายลงมาเล็กน้อยในบ้างจังหวะ แต่ก็ไม่ส่งผลต่อการทำงานของเครื่องยนต์แม้แต่น้อย ขบวนการฟินน์ยังคงสามารถบิดคันเร่งเรียกกำลังจากเครื่องยนต์ได้อย่างต่อเนื่องไม่มีสะดุด ทำให้การเดินทางในช่วงเช้าท่ามกลางสภาพการจราจรที่พลุกพล่านเล็กน้อยและเป็นถนนชนบทเป็นไปอย่างไหลลื่นแบบฟินน์ ก่อนจะไปถึงจุดหมายปลายทางที่ร้าน ส.อรัญญิก แหล่งตีมีดตีดาบอันเลื่องชื่อแห่งบ้านต้นโพธิ์และบ้านไผ่หนอง



     ครูบุญสม ศรีสุข ครูช่างที่สืบสานงานศิลปะการตีมีดแห่งบ้าน ส.อรัญญิก ให้ความเมตตาออกมาต้อนรับขบวนการฟินน์ด้วยตัวเอง พร้อมทั้งเล่าเรื่องความเป็นมาของการตีมีดตีดาบอรัญญิกที่มีชื่อเสียงไปทั่วประเทศและทั่วโลก และยังโชว์การตีดาบไทยโบราณตั้งแต่ขั้นตอนแรกที่ถลุงเหล็กในเตาถ่านไฟแรงๆ จนเหล็กแดงได้ที่แล้วนำออกมาตีมานวดขึ้นรูปจนไปถึงการเข้าฝักจนเป็นดาบไทยโบราณที่สวยงามในที่สุด ซึ่งทำให้สมาชิกขบวนการฟินน์ทุกคนต่างรู้สึกตื่นเต้นและประทับใจกับศิลปะแขนงนี้หลังจากที่ได้เห็นกับตาในทุกขั้นตอนการตีดาบตลอดช่วงระยะเวลาเกือบๆ 3 ชั่วโมงที่เราอยู่ที่นี่



     หลังจากที่ชื่นชอบศิลปะการตีดาบกันจนครบถ้วนแล้ว ขบวนการฟินน์ก็เดินทางกลับตัวเมืองเพื่อไปรับประทานอาหารกลางวันกันที่ร้าน สวนอาหารชายน้ำ ร้านอาหารวิถีชาวบ้านริมน้ำที่นอกจากเราจะได้อร่อยกับอาหารรสชาติพื้นบ้านแล้ว ยังรื่นรมณ์และเย็นสบายจากร่มไม้และสายน้ำอันเป็นทำเลที่ตั้งของร้านแห่งนี้เป็นอย่างยิ่ง ก่อนที่จะออกเดินต่อหลังจากอิ่มท้องไปยัง วัดไชยวัฒนาราม เพื่อย้อนรอยความฟินน์ละครดังแห่งยุคเรื่อง บุพเพสันนิวาส ซึ่งวัดแห่งนี้ได้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2173 โดยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เป็นวัดหลวงที่บำเพ็ญพระราชกุศลของพระมหากษัตริย์สืบต่อมา หลังจากนั้นทุกพระองค์ จึงได้รับการปฏิสังขรณ์สืบต่อมาทุกรัชสมัย เป็นสถานที่ถวายพระเพลิงศพพระบรมวงศานุวงศ์เกือบทุกพระองค์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสิ้นพระชนม์ก็ได้ถวายพระเพลิงที่วัดนี้ โดยก่อนกรุงแตก พ.ศ. 2310 วัดไชยวัฒนารามถูกแปลงเป็นค่ายตั้งรับศึก หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง วัดไชยวัฒนารามได้ถูกปล่อยทิ้งให้ร้างเรื่อยมา บางครั้งมีผู้ร้ายเข้าไปลักลอบขุดหาสมบัติ เศียรพระพุทธรูปถูกตัดขโมย มีการรื้ออิฐที่พระอุโบสถ และกำแพงวัดไปขาย แต่ในปี พ.ศ. 2530 กรมศิลปากรจึงได้เข้ามาอนุรักษ์จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2535 ก่อนที่จะมาโด่งดังและได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติแต่งกายชุดไทยเพื่อเข้าไปถ่ายรูปเช็คอินเป็นที่ระลึกตามรอยละครดัง



     จากนั้นขบวนการฟินน์ได้ออกเดินทางต่อไปยังร้านขนม บ้านข้าวหนม ที่ต้องฝ่าด่านการจราจรที่หนาแน่นในตัวเมืองเนื่องจากมีรถยนต์ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวเมืองอยุธยา แต่ ยามาฮ่า ฟินน์ ทั้ง 8 คัน ก็สามารถซอกแซกลัดเลาะไปได้อย่างคล่องตัวแม้ว่าผู้ขับขี่จะเป้นผู้หญิงตัวเล็กๆ ก็ไม่ได้มีปัญหา เพราะรถครอบครัวยามาฮ่ารุ่นนี้ออกแบบมาเพื่อการใช้งานในครอบครัวสำหรับทุกคนอยู่แล้วนั่นเอง เพียงแค่ชั่วอึดใจเราก็เดินทางมาถึงร้านคาเฟ่ขนมไทยโบราณตามที่ตั้งใจไว้ และสาวๆ ก็ไม่รอช้า จัดการช้อปขนมไทยที่มีให้เลือกอย่างหลากหลายชนิดก่อนกลับบ้านเพื่อเป็นของฝาก ซึ่งที่เก็บของใต้เบาะของยามาฮ่า ฟินน์ ที่มีขนาดใหญ่จุใจชนิดที่ว่าเราสามารถเก็บขนมที่ซื้อมาจำนวนมากไว้ได้แบบสบายๆ เลยทีเดียว



     โดยขบวนการฟินน์ “ยามาฮ่าฟินน์ทั่วไทย...ใช้น้ำมันถังเดียว@อยุธยา” มาปิดทริปกันที่ร้าน ยามาฮ่า สแควร์ เจ้าพระยามอเตอร์ไซค์ ในช่วงเวลาประมาณ 16.00 น. เรียกว่าเที่ยวจนเต็มที่ตลอดทั้ง 2 วันกันเลยทีเดียว ซึ่งบทสรุปของทริปนี้เราเดินทางรวมระยะทางทั้งหมด 129.8 กม. เติมน้ำมันเชื้อเพลิงกลับไปเพื่อเช็คอัตราการใช้น้ำมันไปเพียง 2.16 ลิตร (ค่าน้ำมันที่จ่ายไปคือ 59.90 บาท) ได้ค่าเฉลี่ยความประหยัดน้ำมันอยู่ที่ 60.09 กม./ลิตร ซึ่งสร้างความตะลึง!! ให้กับสมาชิกที่ร่วมเดินทางฟินน์ในครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่คิดว่า การที่ต้องขับขี่ในเมืองกรุงเก่าที่มีการจราจรที่หนาแน่น หรือการขับขี่เดินทางออกไปนอกตัวเมืองเพื่อท่องเที่ยว “ยามาฮ่า ฟินน์” จะประหยัดน้ำมันได้ถึงขนาดนี้ อีกทั้งผู้ขับขี่ยังรู้สึกไม่เหนื่อยไม่เมื่อยล้าแม้ว่าจะขับขี่กันมาตลอดทั้ง 2 วัน...โดยทุกคนต่างลงความเห็นกันว่า “ยามาฮ่า ฟินน์” คือ รถครอบครัวยุคใหม่ตัวจริงของเมืองไทยกันเลยทีเดียว!!!

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้