Last updated: 2 ต.ค. 2567 | 733 จำนวนผู้เข้าชม |
งานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 41 ซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 13 – 26 กรกฏาคมที่ผ่านมา แม้จะต้องเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิค-19 แต่ด้วยมาตรการป้องกันและคัดกรอง รวมถึงขั้นตอนปฏิบัติต่างๆ ในการเข้าชมงานที่รัดกุมและมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เข้าเยี่ยมชมภายในงาน ทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ จนมีผู้เข้าชมงานเป็นจำนวนถึง 1,049,046 คน ขณะที่ยอดจองในงานทะลุ 20,000 คัน ส่งผลให้ยอดขายรถในช่วงครึ่งปีหลังมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น
นายจาตุรนต์ โกมลมิศร์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ในฐานะรองประธานจัดงาน “บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 41” เปิดเผยว่า “สำหรับงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ในปีนี้ มียอดผู้เข้าชมงานอยู่ที่ 1,049,046 คน ซึ่งการที่มีผู้เข้าชมงานเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการที่ ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้เข้าเยี่ยมชมงาน และสร้างความมั่นใจให้กับผู้เข้าชมงาน จนทำให้งาน “บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์” ได้รับการยอมรับว่า เป็นงานอีเว้นท์ใหญ่ของประเทศที่มีมาตรการการเฝ้าระวังโรคติดต่อที่มีประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ”
“ส่วนตัวเลขยอดจองรวมทุกค่ายอยู่ที่ 22,791 คัน แบ่งเป็นรถยนต์ 18,381 คัน และรถจักรยานยนต์ 4,410 คัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับเป้าที่แต่ละบริษัทฯ ได้คาดการณ์ไว้ แม้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังคงระมัดระวังเรื่องการใช้จ่าย เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก”
“สำหรับประเทศไทยเอง แม้จะไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศ แต่การประกาศมาตรการเฝ้าระวังของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเกิดการชะลอตัว เนื่องมาจากรายได้ส่วนใหญ่ของประเทศมาจากการท่องเที่ยว รวมถึงการส่งออกสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ไม่สามารถส่งออกได้”
“เมื่อรวมเข้ากับสภาวะของเศรษฐกิจที่บรรยากาศไม่เอื้อต่อการจับจ่ายของผู้บริโภค แม้ค่ายรถยนต์จะพยายามนำเสนอแคมเปญที่ดีภายในงาน แต่ผู้บริโภคก็ยังคงชะลอการตัดสินใจในการซื้อรถออกไป น่าจะสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น มีผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของผู้บริโภค ในการตัดสินใจใช้เงินในสภาวะเช่นนี้”
ทั้งนี้ หากดูจากตัวเลขยอดจองที่เกิดขึ้น น่าจะพอบ่งชี้ได้ว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้ คือ กลุ่มที่มีกำลังซื้อและมีความต้องการซื้อรถจริง เพราะผู้บริโภคมีความเข้าใจและเลือกซื้อรถที่เหมาะกับการใช้ชีวิตประจำวันของตัวเอง ซึ่งจากตัวเลขยอดจองรถภายในงาน ตลาดรถยนต์ในกลุ่มราคาตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไปยังคงได้รับความสนใจจากผู้บริโภค เนื่องจากมีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์นั่งอเนกประสงค์ ที่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าด้วยศักยภาพของงาน “บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 41” และความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย จะส่งผลให้แนวโน้มของตลาดรถยนต์ในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น และช่วยกระตุ้นตลาดรถยนต์ในช่วงครึ่งปีหลังให้มีตัวเลขการเติบโตเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากยอดจองที่เกิดขึ้นภายในงานมีตัวเลขเกินกว่าที่แต่ละบริษัทฯได้ตั้งเป้าหมายไว้
ส่วนปริมาณยอดจองรถภายในงานยังอยู่ในระดับ 22,791 คัน แบรนด์รถยนต์ที่ทำยอดจองสูงสุดภายในงาน ได้แก่ อันดับ 1 โตโยต้า ยอดจองรวม 3,745 คัน อันดับ 2 มาสด้า ยอดจองรวม 2,365 คัน อันดับ 3 ฮอนด้า ยอดจองรวม 2,001 คัน อันดับ 4 ซูซูกิ ยอดจองรวม 1,583 คัน อันดับ 5 อีซูซุ ยอดจองรวม 1,510 คัน อันดับ 6 เอ็มจี ยอดจองรวม 1,399 คัน อันดับ 7 มิตซูบิชิ ยอดจองรวม 1,227 คัน อันดัน 8 นิสสัน ยอดจองรวม 952 คัน อันดับ 9 บีเอ็มดับเบิ้ลยู ยอดจองรวม 888 คัน และอันดับ 10 ฟอร์ด ยอดจองรวม 742 คัน
แบรนด์รถจักรยานยนต์ ที่ทำยอดจองสูงสุด ได้แก่ อันดับ 1 ฮอนด้า ยอดจองรวม 1,545 คัน อันดับ 2 ยามาฮ่า 1,387 คัน อันดับ 3 คาวาซากิ ยอดจองรวม 446 คัน อันดับ 4 รอยัล เอนฟิลด์ ยอดจองรวม 321 คัน และอันดับ 5 ซูซูกิ 203 คัน
สำหรับงาน “บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 42” จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 24 มีนาคม-4 เมษายน 2564 ณ อิมแพค ชาเลนเจอร์ 1-3 เมืองทองธานี